สวัสดีค่ะเพื่อนๆขา....

แม่หมอสาวคุยข่าวหุ้นยังคงเป็นเพื่อนร่วมทาง(การลงทุน)เพื่อนๆเหมือนเดิม โดยนำเสนอ หุ้นมีข่าว เช้าบ่าย ค่ำ อยู่เป็นเพื่อนกันตลอดวัน ตลอดคืน .......แถมวันเสาร์มีเสริมบารมีนักลงทุนมานำเสนอเพื่อความเฮงด้วยนะคะ .... ส่วนวันอาทิตย์เป็นความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นในหัวข้ออ่านหมากตลาดหุ้นค่ะ .... สำหรับข่าวเรียลไทม์ ขอสงวนสิทธิ์ให้เฉพาะสมาชิคเท่านั้นนะคะ ซึ่งเพื่อนๆสามารถติดต่อขอเป็นสมาชิคได้ที่ magicstocknews @gmail.com หรือ 086-8673392 ค่ะ


*

วันเสาร์

EFSF กองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป



อ่านหมากตลาดหุ้นวันอาทิตย์นี้ .... แม่หมอจะขอพาเพื่อนๆไปรู้จักกับกองทุนกองทุนนึงที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการแก้ปัญหาหนี้แถบยุโรป ที่เพื่อนๆอาจเคยได้ยินชื่อกันมาบ้างแล้วนั่นก็คือ EFSF นั่นเองค่ะ  ส่วนจะเป็นกองทุนแบบไหน สำคัญอย่างไร ถ้าเพื่อนๆอยากรู้ก็ตามมาอ่านได้เลยนะคะ 

EFSF คืออะไร

European Financial Stability Facility (EFSF) เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2010 โดย 23 ประเทศในยูโรโซนทั้งหมดตกลงร่วมให้สัตยาบันเพื่อให้ EFSF ทำหน้าที่รักษาสเถียรภาพทางการเงินในยุโรป คอยช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อสกุลเงินยูโร

EFSFจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมีสำนักงานใหญ่ที่ Luxembourg มี CEO (Klaus Regling), Board of Director และเจ้าหน้าที่ประมาณ 12 คน (เพียงพอเพราะใช้ European Investment Bank เป็น back office และใช้ German Debt Management Office เป็น front office) 

EFSF มีอายุ 3 ปี จะครบกำหนดอายุ 30 มิ.ย. 2013 แต่ถ้ายังมีสถานะคงค้างก็ยังอยู่ต่อไปได้จนกว่าข้อผูกมัดทางการเงินจะสิ้นสุดลง 

23 ประเทศที่ใช้เงินยูโรมีประเทศใดบ้าง?

 Andorra, Austria, Belgium, Cyprus, Estonia, Finland, France, Germany, Greece, Ireland, Italy, Kosovo, Luxembourg, Malta, Monaco, Montenegro, Netherlands, Portugal, San Marina, Slovakia, Slovania, Spain, Vatican City.

EFSF มีวงเงินเท่าไหร่ ช่วยอย่างไร?

EFSF มีวงเงินเริ่มต้น 4.40 แสนล้านยูโร ใช้ไปแล้วประมาณ 1.42 แสนล้านยูโร  เหลืออยู่ 2.98 แสนล้านยูโร ไม่เพียงพอต่อการช่วยอีกหลายประเทศเมื่อมีปัญหา

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2011 ที่ผ่านมา มีการคุยกันในเบื้องต้นว่าจะขยายเป็น 7.8 แสนล้านยูโรเพราะปัญหามีมาก จำนวนเงินดังกล่าวเป็นเพียงวงเงิน ในทางปฏิบัติ ทุกประเทศต้องกลับไปขออนุญาตจากประชาชนของประเทศซึ่งเป็นผู้เสียภาษีผ่านการอนุมัติจากสภา และยังอาจมีปัญหาเรื่องการรักษาสถานะ Rating ของ EFSF เองด้วย

ช่วงที่ผ่านมา มี 13 ใน 16 ประเทศที่อนุมัติการใส่เงินเพิ่มใน EFSF ไปแล้ว เหลืออีก 3 ประเทศคือเนเธอร์แลนด์ และมอลต้า ภายในสัปดาห์นี้ และสโลวาเกีย วันที่ 17 ต.ค.

การระดมเงินของ EFSF ทำโดยการออกพันธบัตรหรือตราสารหนี้ต่างๆ ขายให้สถาบัน/นักลงทุนที่สนใจ เพื่อเอาเงินนั้นมาปล่อยกู้ให้ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ (เป็นการให้กู้ ไม่ใช่ให้เปล่า ผู้ที่กู้ไปต้องคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย) เงินกู้นั้นได้รับการการันตีจากทุกประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนตามสัดส่วนของ GDP ของแต่ละประเทศ

EFSF ช่วยใครแล้วบ้าง?

EFSF ออกพันธบัตรครั้งแรกให้ Ireland 25 ม.ค. 2011 เป็นพันธบัตร 5 พันล้านยูโร อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 5.9% และกลางเดือน มิ.ย. ออกพันธบัตรให้ Portugal 5.9 พันล้านยูโร อายุ 5 - 10 ปี (มี 2 tranch) ดอกเบี้ย 5.3% – 6.0% แต่วงเงินช่วยกรีซ 1.1 แสนล้านยูโรที่ออกมาตั้งแต่ปี 2010 ไม่อยู่ในวงเงินของ EFSF เป็นการช่วยเหลือจากสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน 8 หมื่นล้านยูโร + IMF 3 หมื่นล้านยูโร

ขั้นตอนในการขอเงินกู้จาก EFSF

ถ้าประเทศสมาชิกที่มีปัญหาไม่สามารถไปกู้ในตลาดเงินได้ตามปกติ (ไม่มี Rating ที่จะสามารถกู้ได้หรือเรทติ้งเป็น Junk) จะมาขอรับเงินกู้จาก EFSFขณะเดียวกันก็ต้องขออนุมัติจาก EU และ IMF ด้วย ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบฐานะทางการเงินก่อนจะได้รับเงินกู้ หากได้รับการอนุมัติแล้ว จะใช้เวลา paper work ประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ ผู้ขอกู้จึงจะได้รับเงินกู้

กรีซมีหนี้เท่าไหร่ ใครเป็นเจ้าหนี้?

กรีซมีหนี้สาธารณะทั้งหมดล่าสุด 4.46 แสนล้านยูโร (เงินต้น 3.52 แสนล้านยูโร + ดอกเบี้ย 9.3 หมื่นล้านยูโร) หรือ 154.74% ของ GDP  เจ้าหนี้หลักของกรีซคือฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่ถือทั้งพันธบัตรและปล่อยกู้โดยตรง จึงไม่น่าแปลกใจว่ามักจะมีข่าวลดอันดับเครดิตของธนาคารในฝรั่งเศสและเยอรมนีจากสถาบันจัดอันดับต่างๆ เป็นระยะ
 
ทางออกของกรีซ

ความเป็นไปได้ของทางออกมีตั้งแต่การ hair cut ซึ่งวันนี้พูดกันถึง 50% (ธนาคารเจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรกรีซและยังไม่ได้ mark to market มูลค่าของพันธบัตรหรือตั้งสำรอง อาจต้องเพิ่มทุนหากฐานทุนต่ำกว่าเกณฑ์) การขอพึ่งพากลุ่ม Troika ไปเรื่อยๆ การประกาศล้มละลาย และการถอนตัวออกจากยูโรโซน ซึ่ง 2 ทางเลือกหลังน่าจะเป็นไปได้ยาก

ณ วันนี้เห็นได้ชัดแล้วว่ากลุ่มยูโรโซนไม่ต้องการให้กรีซออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน เพราะนอกจากจะเป็นปัญหาความน่าเชื่อถือของสกุลเงินยูโรแล้วยังเป็นความเสียหายอย่างที่สุดของประเทศในกลุ่มยูโรโดยเฉพาะประเทศเจ้าหนี้ หนี้ของกรีซจะเพิ่มขึ้นมหาศาลตามการอ่อนค่าของเงินสกุลกรีซจนไม่สามารถหนี้ได้ ทั้งที่กรีซมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอย่างเช่น การท่องเที่ยว ท่าเรือขนส่งสินค้า ก็ยังสามารถทำรายได้ได้ แม้ว่าการให้กรีซใช้เงินสกุลยูโรจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของกรีซและการเพิ่มรายได้ของประเทศก็ตาม

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก Bisnews /  Bloomberg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

Powered By Blogger